วันพุธที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ยางพารา ขุมทองเกษตรกรเมืองจันท์


ปีทองสวนยางพาราจังหวัดจันทบุรี เกษตรกรสร้างรายได้เป็นกอบกำ จากปัจจัย 2 สิ่ง เพราะอยู่ในจังหวะที่กำลังย่างเข้าสู่ฤดูหนาวทำให้ได้ผลผลิตมาก สามารถตอบสนองดีมานด์ตลาดโลกที่ราคาพุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ 119 บาท/กิโลกรัม วางแผนอนาคตฝ่าข้อจำกัดด้านขยายพื้นที่มาเน้นต่อยอดด้านยางพาราครบวงจร
     
       ประพจน์ ราชนิยม ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดจันทบุรี กล่าวกับ “ ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์ ” ถึงสถานการณ์การทำสวนยางพาราของจังหวัดจันทบุรีว่า ภาพรวมผลผลิตยางพาราในประเทศไทยลดลง เนื่องจากผลผลิตยางพาราจากภาคใต้แหล่งใหญ่ในประเทศ เผชิญกับปัญหาอุทกภัย ได้ส่งผลกระทบพื้นที่สวนยางเสียหายจำนวน 2แสนไร่ รวมทั้งปัจจัยทางด้านสภาพอากาศในพื้นที่มีฝนชุกระยะนี้ส่งผลทำให้ผลิตลดลง ด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม สวนยางพาราของจังหวัดจันทบุรีไม่มีน้ำท่วม ไม่ได้รับความเสียหาย และยังเป็นความโชคดีอย่างมากของชาวสวนยางที่อยู่ในจังหวะที่กำลังย่างเข้า สู่ฤดูหนาว ส่งผลให้รายได้การกรีดยางของเกษตรกรชาวสวนยางจันทบุรีในระยะนี้ได้น้ำยางอ ย่างเป็นกอบเป็นกำ ทั้งยังเป็นปีทองที่ราคายางพารา 119 บาท ซึ่งถือว่าสูงมากเป็นประวัติศาสตร์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน
     
       ความเสียหายของสวนยางทางภาคใต้ หลังหมดอุทกภัยแล้วเมื่อคืนสู่ปรกติ ต้องมีการฟื้นฟูปลูกต้นยางพาราใหม่ ซึ่งทำให้เกษตรกรเสียโอกาสขาดรายได้ไปช่วงนี้ นั่นเพราะต้องอาศัยระยะเวลาจนกว่าจะให้ผลผลิตอีกนั้นใช้เวลาถึง 7 ปี ซึ่งจะให้ผลผลิตในอนาคตได้ กลไกราคายางพาราขึ้นกับดีมานด์ และซัพพลาย ซึ่งแนวโน้มมีการคาดการณ์ ดีมานด์ยางพาราจะมีการใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในโลกของอุตสาหกรรมรถยนต์ขายดีทั่วโลกใช้ยางพาราเป็นวัตถุดิบมาก เห็นได้จากความเคลื่อนไหวของภาครัฐ รวมถึงกลุ่มนายทุน ที่ตอบรับกระแสความต้องการยางพาราของตลาดโลกของประเทศไทย มีการขยายพื้นที่การปลูกยางพาราขยายขึ้นไปที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และในต่างประเทศ คือ ลาว พม่า และเวียดนาม
     
       การขยับขยายพื้นที่การปลูกยางพาราในจังหวัดจันทบุรี เพื่อตอบรับกับกระแสยางพาราตลาดโลกนั้น แม้ว่าการปลูกยางพาราในภาคตะวันออก ซึ่งเคยได้ชื่อว่า เป็นแหล่งที่มีการปลูกยางพารามากเป็นอันดับสองในประเทศรองจากพื้นที่ภาคใต้ แต่ปัจจุบันเสียตำแหน่งให้ภาคอีสาน เพราะมีปัจจัยสนับสนุนทางภาคอีสานมีพื้นที่สำหรับขยายการปลูกมากกว่า โดยในปัจจุบันนั้นจังหวัดมีพื้นที่ปลูกยางพารา เป็นอันดับ 2 ในภาคตะวันออกรองจากระยอง โดยตัวเลขที่เกษตรมีการขึ้นทะเบียนกว่า 4 แสนไร่
     
       ปัจจุบันแหล่งใหญ่ของพื้นที่การปลูกยางพารา ทางภาคใต้เป็นอันดับหนึ่ง มีสวนยางคิดป็นประมาณ 10 -11ล้านไร่ รองมาเป็นภาคอีสานมีสวนยางทั้งหมด 2.8 ล้านไร่ ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออก 2 ล้านไร่ และทางภาคเหนือ 5-6 แสนไร่
     
       ผู้อำนวยการ สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “เมื่อมีข้อจำกัดทางพื้นที่ทำให้ไม่สามารถเพิ่มจำนวนสวนยางและผลผลิตได้อีก นั้น ดังนั้นการดำเนินการปรับไปเน้นในเรื่องของการสร้างความแข็งแกร่งทางการขาย และการสร้างรายได้จากการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยให้คำแนะนำกับเกษตรกรชาวสวนยางต้องมีการรวมกลุ่มกันขาย จากต่างคนต่างขาย ไม่ได้ราคา ทั้งนี้การรวมตัวของเกษตรโดยระบบประมูลให้พ่อค้ามารับซื้อ จะได้ราคามากขึ้น และเพื่อสร้างอำนาจต่อรองกับพ่อค้าคนกลางที่รับซื้อไปแปรรูปยางพาราแผ่นดิบ ทั้งนี้เป้าหมายระยะยาวการรวมตัวกันในระดับสูงมากขึ้นจะพัฒนาไปจนถึงการขาย ให้กับตลาดต่างประเทศเอง ซึ่งวิธีการเหล่านี้เป็นการเพิ่มมูลค่าสร้างกำไรที่เคยตกเป็นของพ่อค้า”
     
       ท่ามกลางการขยายพื้นที่การปลูกยางพาราในภาคตะวันออก ที่มีจำกัดด้านพื้นที่นั้น ในมุมมองของเกษตรกร สมเดช เขมะสุข ประธานกรรมการชุมนุมสหกรณ์ชาวสวนยางจันทบุรี จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์การทำสวนยางของจังหวัดจันทบุรี ปัจจัยทางด้านราคายาง ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เกษตรกรสวนผลไม้หันมาปลูกยางพารามากขึ้น แม้ว่าการปลูกไม่มีพื้นที่ขยายได้ แต่มีวิธีการขยายในสวนผลไม้ โดยปลูกยางพาราแซมไปในสวนเงาะ ซึ่งเหล่านี้มีจำนวนมาก เป็นสวนนอกกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง จากช่วง 4 ปีที่ผ่านมาที่มีการขยายครั้งล่าสุด จนถึงปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกยางพาราทั้งจังหวัดประมาณ5 - 6 แสนไร่
     
       “ที่ผ่านมา ทางด้านการตลาดไม่ค่อยวิตก เพราะจากข้อมูลยางพาราตลาดโลกยังคงขาดแคลน โดยปริมาณการซัพพลายผลผลิตยางพาราที่มาจากประเทศต่างๆยังไม่สามารถตอบสนอง ได้นัก ทว่าปัญหาที่พบหลังการเพิ่มผลผลิตคือ ด้านแรงงานรับจ้างกรีดยาง โดยเฉพาะช่วงหลังนั้นเริ่มมีผลกระทบกับแรงงานที่รับจ้างเก็บผลไม้ หันมารับจ้างกรีดยางเพราะมีรายได้มากกว่า อัตราค่าแรงงานคนในพื้นที่ใช้วิธีแบ่งสัดส่วนระหว่างเจ้าของแบบ 50% : 50% ส่วนค่าแรงต่างถิ่นอัตรา 70% : 30% รวมทั้งเมื่อเริ่มขยายพื้นที่การปลูกยางพาราไปแถบภาคอีสานนั้น เริ่มทำให้การขาดแคลนแรงงานที่มาจากอีสานและปัจจุบันเริ่มมาใช้แรงงาน ต่างด้าวแทน”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น